art and environment
ศิลปะกับสิ่งแวดล้อม : ความงามของความตระหนักรู้ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ การ “เคลื่อน” และ “เชื่อม”ความหมายของงานศิลปะไปสู่มิติทีหลากหลายของชีวิตมนุษย์ เปิดโอกาสให้เกิดความรู้สึกถึงสิ่งต่างๆได้ลึกซึ้งขึ้น ลึกไปสู่ความหมายที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยเหตุผลหรือการรับรู้ทั่วไป เพราะการดำรงและดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการรับรู้และการให้ความหมายต่อสรรพสิ่งอย่างธรรมดาเท่านั้น หากแต่มีกระบวนการการตัดสินใจที่อยู่ลึกลงไปในระบบ “ใต้สำนึก” กำกับอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำความเข้าใจการทำงานของการรับรู้และให้ความหมายของมนุษย์นั้นที่ซับซ้อนอย่างยิ่งนั้น จำเป็นที่จะต้องมองจากมุมของการสร้างสรรค์ที่อิสระมากที่สุดของมนุษย์เพื่อจะแสวงหาทางที่จะมองย้อนลึกลงไปสู่ส่วนที่อยู่ลึกสุดในระบบอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ งานศิลปะจะสร้าง “ความงาม” อันนำพาไปสู่ความ “ตระหนัก-รู้” คืองานที่กระตุกพรมใต้เท้าของผู้คนให้ล้มระเนระนาดเพื่อให้ลุกขึ้นมาอีกครั้งด้วยความตระหนักลักษณะใหม่ งานศิลปะนี้จึงเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างความเข้าใจ/ความรู้ที่เป็นความรู้ใต้สำนึก ( Unconscious knowledge ) ซึ่งเป็นการรับรู้ การให้ความหมาย และพลังจริงในการกำกับชีวิตของเรามนุษย์ทุกคน มนุษย์ได้ประกอบสร้าง “ความรู้ใต้สำนึก” มาตลอดเวลาของชีวิต จุดเปลี่ยนหรือจุดหักเหของสายสัมพันธ์การเชื่อมต่อของข้อมูลปลีกๆให้เป็น “ความรู้ใต้สำนึก” อยู่ที่ “ความรู้สึก”ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจากอายตนะทั้งหลายของมนุษย์นั้นเอง หวังใจว่า โครงการศิลปะเพื่อลมหายใจ ที่มุ่งกระตุกเตือนผู้คนให้ “ตระหนักรู้” ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุกล้อมชีวิตของเราสามารถที่จะแผ้วทางให้เราทั้งหมดได้เข้าใจสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในใจเรามากขึ้นและมองเห็นสายสัมพันธ์ทีมีคุณค่าของสิ่งแวดล้อมกับชีวิตของมนุษย์ สนับสนุนโดย