เปิดผัสสะไปสู่บรรย(อ)ากาศ1 เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อากาศหรือบรรยากาศก็คือเงื่อนไขการดำรงอยู่พื้นฐานของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทว่าในความคิดแบบตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับการเห็นหรือดวงตาก็ทำให้ผัสสะอื่นๆ บดบังความรับรู้ที่เรามีต่อโลก นักคิดในสายสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะพวกที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาแบบปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) อย่าง Juhani Pallasmaa, Peter Zumthor และ Gernet Böhme2 กลับให้ความสำคัญกับการสัมผัส (touch) ในฐานะที่เป็นพื้นฐานของผัสสะอื่นๆ นักทฤษฎีสถาปัตยกรรมเหล่านี้เสนอมโนทัศน์ “บรรยากาศ” หรือ atmosphere เพื่อคัดง้างกับมโนทัศน์ว่าด้วย “พื้นที่” (space) ซึ่งสอดคล้องกับ Tim Ingold ที่ชี้ให้เห็นว่ามโนทัศน์สถานที่นั้นสร้างปัญหาใหญ่หลวง โดยเฉพาะการทำให้เรากับสถานที่เป็นสิ่งที่แยกจากกันอย่างเด็ดขาดมากเกินไป3 Pallasmaa เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการสัมผัสกับการเห็น ในขณะที่การเห็นใช้ดวงตา แต่การสัมผัสกลับใช้ผิวหนังหรือ skin ซึ่งภายใต้วิธีคิดที่ยกให้ดวงตาเป็นใหญ่แบบ Ocularcentrism ผิวหนังไม่สามารถเห็นได้ แต่สำหรับ Pallasmaa แล้ว “พวกเราจะเห็นสิ่งต่างๆ ได้ผ่านผิวหนังของเรา”4 แน่นอนว่าสำหรับเด็กทารกที่ตาเนื้อยังไม่เปิด พวกเขาสัมผัสโลกผ่านการสัมผัสด้วยผิวหนังซึ่งเต็มไปด้วยความร้อน เย็น แข็ง หรืออ่อนนุ่ม หากปราศจากการสัมผัสของผิวหนังแล้ว ทารกจะไม่มีทางเรียนรู้ที่จะใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ ของตนเองได้ การสัมผัสซึ่งเชื่อมต่อระหว่างร่างกายของเรากับสิ่งที่อยู่ภายนอกผ่านหน้าจอของผิวหนังก็คือจุดที่ทั้งเชื่อมต่อเรากับโลก พร้อมๆ กับที่มันก็แยกเราออกจากโลกและคนอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน เมื่อทารกเติบโตขึ้นผ่านการเปิดตาเนื้อ พวกเขาจะเริ่มมองเห็นสิ่งต่างๆ และถูกสอนให้ใช้ตามากขึ้นในการสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ความต่างระหว่างการใช้ตากับการสัมผัสด้วยผิวหนังจึงสามารถถูกเข้าใจได้ในฐานะตัวตน 2 ระดับ นั่นคือ ตัวตนในระดับจิตไร้สำนึกหรือ unconsciousness กับตัวตนที่เราสำนึกรู้ (consciousness) ซึ่งในระดับของการสำนึกรู้ได้ก่อรูปร่างของตัวตนและอัตตาของตัวเราให้แยกขาดออกจากผัสสะอื่นๆ และการสัมผัสด้วยผิวหนัง ส่งผลให้การสัมผัสด้วยผิวหนังถูกผลักให้ถอยห่างออกจากสถานะอันเป็นพื้นฐานจุดตั้งต้นของผัสสะอื่นๆ ที่ตามมาภายหลัง ซึ่ง Pallasmaa ชี้ว่า การสถาปนาอำนาจของดวงตาและความเป็นตัวเป็นตนของจิตสำนึกได้ทำให้การสัมผัสด้วยผิวหนังอยู่ในสถานะของ “ชายขอบ” (periphery) ส่วนดวงตากลับกลายมามีสถานะเป็นศูนย์กลาง (center) อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสกับการเห็นก็มิได้มีความเป็นสากล ในสังคมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตะวันตกนั้นกลับมิได้ผลักไสการสัมผัสด้วยผิวหนังออกไปให้เป็นชายขอบ มีเพียงสังคมตะวันตกเท่านั้นที่ก่อรูปความรู้ของตนเองขึ้นมาผ่านการสถาปนาอำนาจของดวงตาให้เป็นศูนย์กลางเพียงหนึ่งเดียว5 ดังที่ Peter Sloterdijk ชี้ว่า “ดวงตาหรือการเห็นก็คืออวัยวะต้นแบบของวิชาปรัชญา ความลึกลับของดวงตานั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากที่มันสามารถมองเห็นได้เท่านั้น ทว่ามันยังสามารถมองเห็นว่าตัวมันเองกำลังมองเห็นได้ด้วย นี่คือสาเหตุที่ดวงตามีความพิเศษเหนืออวัยวะรับรู้อื่นๆ ของร่างกาย ส่วนประกอบสำคัญของการคิดเชิงปรัชญาก็คือ ภาพที่สะท้อนในดวงตา การมองกลับไปกลับมากับตัววัตถุที่ถูกมอง และการมองเห็นว่าตัวเองกำลังเห็น… การเห็นว่าตัวเองเห็นก็ทำให้สิ่งต่างๆ ปรากฏได้”6 ในแง่นี้ “การเห็นว่าตัวเองเห็น” (seeing-oneself see) ก็คือคุณสมบัติสำคัญของวิธีคิดแบบตะวันตกที่สถาปนาดวงตาขึ้นมาในฐานะเครื่องมมืออันประเสริฐสูงสุดของการเห็นเหนือผัสสะอื่นๆ พร้อมๆ กับที่การเห็นว่าตัวเองเห็นก็มิได้ไม่เพียงแค่การเห็นตัววัตถุภายนอกที่ตาเห็นเท่านั้น แต่กลับเป็นการเห็นตัวเอง “การเห็นตัวเอง” […]