อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์
IMHATHAI SUWATTHANASILP
อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ เกิดปี พ.ศ. 2524 ที่กรุงเทพฯ จบการศึกษาระดับปริญญาโทที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2543 และได้รับทุนนักศึกษาแลกเปลี่ยนไปศึกษาที่ Ecole Nationale Superieure des Beaux – Arts, ปารีส ฝรั่งเศส, ในปี พ.ศ. 2548 นอกจากนี้ยังได้รับทุนรัฐบาลอิตาลีไปเรียนคอร์สแกะสลักหินอ่อน ที่ Academia di Belle Arti di Firenze เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี ในปี พ.ศ. 2552 เธอได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ประจำที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นเวลา 6 ปี จึงตัดสินใจลาออกมาใช้ชีวิตเพื่อทำงานศิลปะและสร้างสตูดิโออยู่ที่จังหวัดลำพูนในปี พ.ศ. 2560 อิ่มหทัยมีชื่อเสียงจากการใช้เส้นผมเป็นวัสดุหลักในการทำงานศิลปะ เธอเชื่อมโยงวัสดุดังกล่าวกับความเป็นมนุษย์ ในแง่มุมต่างๆ ผลงานของเธอให้ความรู้สึกสะเทือนใจและทำให้เกิดคำถามมากมายแก่ผู้ชม เกี่ยวกับแนวคิดที่เธอนำมาเชื่อมโยงกับชิ้นงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเพศสภาพ สอดแทรกการวิพากษ์สังคม เธอยังให้ความสนใจเกี่ยวกับความซับซ้อนของสังคมไทย ศีลธรรม ความเชื่อ และจารีต ที่หล่อหลอมวิธีคิด การแสดงออก จนปรากฏเป็นบุคลิกภาพ รวมถึงพฤติกรรมของคนในสังคม
ART FOR AIR Interview VDO
แนวความคิด
ผลงานชุด We Are Family นี้สร้างขึ้นหลังจากที่ อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ได้ย้ายจากกรุงเทพฯ มาอาศัยอยู่ที่จังหวัดลำพูน สตูดิโอของเธอตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งนา ทำให้เธอได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและสังเกตเห็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆวัน หนึ่งในปรากฏการณ์ที่ทำให้เธอเกิดความสะเทือนใจคือสิ่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อเธอสังเกตเห็นขี้เถ้าที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า ปลิดปลิวลงมาราวกับหิมะแต่ทว่ามีสีดำ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเผาไร่นาและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนและสิ่งแวดล้อม ศิลปินบรรจงสร้างผลงานศิลปะขึ้นจากเส้นผมจำนวนมากถักทอเป็นรูปทรงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ รูปร่างของดอกไม้ใบไม้และกระดูกสัตว์สีดำเหล่านี้ดูราวกับขี้เถ้าที่ผ่านการมอดไหม้จากเปลวไฟ ศิลปินเพียงอยากกระตุ้นเตือนให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่นับวันเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เราทุกคนล้วนได้รับผลกระทบไม่ต่างไปจากพืชและสัตว์ มนุษย์อาศัยธรรชาติเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต ธรรมชาติจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และสุดท้ายเราไม่สามารถแยก มนุษย์กับธรรมชาติออกจากกันและกันได้